สมุดปกเขียว ของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี

กัดดาฟี ได้เขียนหนังสือปรัชญาการเมืองเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "สมุดปกเขียว" พิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ.1975) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการนำประชาธิปไตยทางตรงมาใช้ และมีการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ว่าเป็น "ระบบที่พยายามเรียกกันว่าเป็นประชาธิปไตย" และระบอบการปกครองประชาธิปไตยส่วนใหญ่ในโลกนั้น "ถูกแก่งแย่งกันโดย ปัจเจกชน, ชนชั้น, กลุ่มคน, เผ่าต่าง ๆ, สภา หรือ พรรคการเมือง เพื่อเข้ามาปล้นเอาอธิปไตยของมวลชน และผูกขาด อำนาจการเมืองไว้เป็นของพวกเขาเอง"[4] ปัจจุบัน "สมุดปกเขียว" ได้มีการเพยแพร่และสามารถเข้าไปอ่านได้ทั้งเล่มบน เว็บไซต์ของขบวนการ International Green Charter Movement หรือ สำนักข่าวออนไลน์อิสระ MATHABA

แนวคิดการนำประชาธิปไตยทางตรงมาใช้

ประชาสมาคม และ คณะกรรมการประชาชน

การประชุมชน หรือ ประชาสมาคม เป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้ประชาธิปไตยของปวงชนนั้นสัมฤทธิ์ผล ระบบการปกครองใด ๆ ที่ขัดแย้งกับวิธีการประชุมชนนี้นั้นถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบการปกครองซึ่งมีอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันจะไม่เหลือความเป็นประชาธิปไตยอยู่ นอกเสียจากระบบเหล่านั้นจะรับเอาวิธีการนี้ไปใช้ การประชุมชน หรือ ประชาสมาคมนั้น คือจุดจบของการเดินทางค้นหาประชาธิปไตยของมวลชน

ประชาสมาคม และ คณะกรรมการประชาชน เป็นผลสัมฤทธิ์ของการดิ้นรนเพื่อประชาธิปไตยของคน ประชาสมาคม และ คณะกรรมการประชาชน ไม่ใช่ประดิษฐกรรมแห่งจินตนาการ ; มันคือผลผลิตของความคิดที่ซึมซับการทดลองเพื่อบรรลุถึงประชาธิปไตยของมนุษย์ทั้งหมดไว้

ประชาธิปไตยทางตรงนั้นไม่สามารถโต้แย้งได้เลยว่าเป็นวิธีการปกครองดีที่สุด แต่เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะรวมประชาชน ไม่ว่าจะมีจำนวนน้อยซักเท่าใด ไว้ในสถานที่แห่งหนึ่ง เพื่อที่พวกเขาจะได้ ถกเถียง ชี้แจง และตัดสิน นโยบาย, ฉะนั้นประเทศที่มิได้นำประชาธิปไตยทางตรงมาใช้ จะมองว่ามันเป็นเพียงความคิดเชิงอุดมคติที่ไม่เป็นความจริง มันจึงถูกแทนที่ด้วยทฤษฎีการปกครองอื่นมากมาย เช่น สภาผู้แทน, รัฐบาลผสม หรือ การทำประชามติ เป็นต้น โดยที่กล่าวมานั้น กีดกันและขัดขวางไม่ให้มวลชนได้จัดการกิจการการเมืองทั้งหลายของเขา

เครื่องมือการปกครองเหล่านั้นถูกแก่งแย่งกันโดย ปัจเจกชน, ชนชั้น, กลุ่มคน, เผ่าต่าง ๆ, สภา หรือ พรรคการเมือง เพื่อเข้ามาปล้นเอาอธิปไตยของมวลชน และผูกขาด อำนาจการเมืองไว้เป็นของพวกเขาเอง

สมุดปกเขียวจะนำระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่เคยนำมาประยุกต์ใช้ได้มาสู่มวลชน ไม่มีปัญญาชนคนใดที่จะโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ว่าประชาธิปไตยทางตรงนั้นมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง แต่จวบจนปัจจุบันไม่มีการคิดค้นวิธีการนำมันมาใช้ได้เลย กระนั้นทฤษฎีสากลที่สาม (Third Universal Theory) จะทำให้เกิดประชาธิปไตยโดยตรงซึ่งสามารถนำมาใช้การจริงได้ สุดท้ายก็จะทำให้ปัญหาแห่งประชาธิปไตยถูกแก้ไข จะคงเหลือแต่การดิ้นรนในการกำจัดรูปแบบของเผด็จการที่อยู่เหนือกว่ามวลชน โดย สภา, กลุ่มคน, เผ่า, ชนชั้น, ระบบพรรคเดี่ยว, ระบบพรรคคู่ หรือ ระบบหลายพรรค ซึ่งเรียกตัวเองอย่างผิด ๆ ว่า ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นมีเพียงวิธีการและทฤษฎีเดียว ความแตกต่างและหลากหลายของระบบที่พยายามเรียกตนว่าประชาธิปไตยนั้นในความจริงจะแสดงให้เห็นถึงหลักฐานว่ามันไม่ใช่ อำนาจของปวงชนจะแสดงออกมาได้เพียงวิธีเดียวคือผ่านทางประชาสมาคม และ คณะกรรมการประชาชน (Popular Conferences and People’s Committees) รัฐใดๆจะไม่สามารถมีประชาธิปไตยได้ หากปราศจากประชาสมาคม และ คณะกรรมการประชาชน

ประการแรกประชาชนจะถูกแบ่งเป็น ประชาสมาคมย่อย (Basic Popular Conference) แต่ละสมาคมจะเลือก เลขาธิการ (Secretariat) และเลขาธิการของประชาสมาคมย่อยทั้งหมดจะรวมกันเป็น ประชาสมาคมบน (Non-Basic Popular Conferences) ในขณะเดียวกันประชาชนของประชาสมาคมย่อยจะเลือก คณะกรรมการประชาชน (People’s Committees) ขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐบาลท้องถิ่น สถาบันสาธารณะทุกสถาบันจะดำเนินการโดยคณะกรรมการประชาชนซึ่งจะมีประชาสมาคมย่อยรับผิดชอบการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล เมื่อนั้นทั้งการบริหารและการควบคุมดูแลรัฐจะกลายเป็นของประชาชน ซึ่งจะทำให้คำนิยามของประชาธิปไตยที่ว่า ประชาธิปไตยคือการกำกับดูแลของรัฐโดยประชาชน ล้าสมัย และกลายมาเป็นคำนิยามที่แท้จริงว่า ประชาธิปไตยคือการกำกับดูแลของประชาชนโดยประชาชน

ประชาชนทุกคนที่เป็นสมาชิกของแต่ละ ประชาสมาคม อาจจะเป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมตัวกันเป็น สมาคมวิชาชีพ หรือ สมาคมเฉพาะทาง (Professional Popular Conferences) โดยในสภาพความเป็นพลเมืองแล้วนั้นจะสามารถเป็นสมาชิกของทั้ง ประชาสมาคมย่อย และ คณะกรรมการประชาชนได้ด้วย ประเด็นที่พิจารณาโดย ประชาสมาคม และคณะกรรมการประชาชน อาจไปสิ้นสุดลงใน สภาประชาชน (General People’s Congress) ซึ่งจะเป็นการนำเลขาธิการของประชาสมาคมต่าง ๆ และ คณะกรรมการประชาชน ไว้ด้วยกัน มติของสภาประชาชนซึ่งจะมีการพบปะกันในแต่ละวาระ หรือ แต่ละปี จะถูกส่งผ่านไปยัง แต่ละประชาสมาคม และ คณะกรรมการประชาชน ซึ่งจะบริหารมติเหล่านั้นผ่าน คณะกรรมการผู้รับผิดชอบ (Responsible Committees) ที่เลือกโดยประชาสมาคมย่อยนั้น ๆ

สภาประชาชน จะไม่ใช่เพียงการรวมตัวกันของบุคคล หรือ สมาชิกสภา เช่นเดียวกับรัฐสภาทั่วไป แต่จะเป็นการรวมตัวกันของ ประชาสมาคม และ คณะกรรมการประชาชน

ดังนั้นปัญหาของเครื่องมือการปกครองจะถูกแก้ไขไปโดยปริยาย และ เครื่องของเผด็จการทุกรูปแบบจะหมดไป ผู้คนจะเป็นเครื่องมือในการปกครอง และสภาพป่วยการของประชาธิปไตยจะได้รับการแก้ไขในที่สุด— สมุดปกเขียว - ภาค 1 ; วิธีการแก้ไขปัญหาแห่งประชาธิปไตย - “อำนาจอันชอบธรรมของประชาชน”

[5]

แหล่งที่มา

WikiPedia: มูอัมมาร์ กัดดาฟี http://www.greencharter.com/files/gb.htm http://www.kirasalak.com/Libya.html http://www.state.gov/r/pa/ei/bgn/5425.htm http://www.mathaba.net/gci/theory/gb.htm http://www.mathaba.net/gci/theory/gb1.htm#popular http://www.algathafi.org/html-english/index.htm http://worldcat.org/identities/lccn-n81-68638 https://web.archive.org/web/20080115060424/http://... https://web.archive.org/web/20081203050615/http://... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Muamma...